วิธีปลดล็อคสมองแบบ 100% ช่วยให้เล่นดนตรีได้เก่งขึ้นแม้ใช้เวลาซ้อมเท่าเดิม

วิทยาศาสตร์กับการฝึกซ้อม ทำไมการซ้อมดนตรีวันละ 10 นาที ถึงช่วยให้เล่นได้เก่งกว่าการซ้อม 60 นาทีในวันเดียว

science of practice

การฝึกซ้อมดนตรีเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนที่เล่นเครื่องดนตรีทุกคน การฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้พัฒนาทักษะการเล่นดนตรีได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าการฝึกซ้อมดนตรีต้องใช้เวลานานๆ จึงจะเห็นผล ยกตัวอย่างเช่นคุณมีเรียนกีตาร์ทุกวันอาทิตย์เลยตั้งใจที่จะซ้อมในวันเสาร์ 1 ชั่วโมง แต่ความจริงแล้ว การฝึกซ้อมดนตรีแค่วันละ 10 นาที ก็สามารถช่วยให้คุณสามารถเล่นได้เก่งขึ้นกว่าการฝึกซ้อม 1 ชั่วโมงในวันเดียวได้ เพราะการฝึกดนตรีไม่ใช่แค่การขัดเกลาทักษะนิ้วมือ แต่รวมไปถึงการเรียนรู้และพัฒนาสมองอีกด้วย

ห้องฝึกซ้อมลับในยามหลับ

เพราะสมองของเราไม่เคยหยุดพักแม้ในยามหลับ ตามหลักประสาทวิทยา (Neuroscience) สมองจะมีการประมวลผลและจัดระเบียบข้อมูลต่าง ๆ ที่เราได้รับมาในระหว่างที่เรานอนหลับ ข้อมูลเหล่านี้รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการเล่นดนตรีที่เราฝึกซ้อมในตอนกลางวันด้วย ดังนั้นนี่คือช่วงเวลาทองที่สมองทบทวน บ่มเพาะ และเสริมสร้างเส้นใยประสาทที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่เราเรียนรู้ การฝึกซ้อมดนตรีอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำในทุกวัน เปรียบเสมือนการป้อนข้อมูลให้สมองอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้สมองมีโอกาส “ฝึกซ้อม” ในยามหลับหลายรอบ เมื่อสมองได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ในตอนกลางคืน เครือข่ายประสาทเหล่านี้ก็จะได้รับการฟื้นฟูและเสริมสร้างให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ส่งผลให้สามารถเล่นดนตรีได้อย่างคล่องแคล่วและแม่นยำมากขึ้นในวันถัดไป หรืออาจจะพูดได้ว่าการนอนหลับก็คือฝึกซ้อมลับนั่นเอง ซึ่งการซ้อมดนตรี 10 นาทีในทุกวันนั้นจะทำให้มีการซ้อมในตอนที่นอนหลับมากกว่าการซ้อม 1 ชั่วโมงในวันเดียว

10 นาที VS 60 นาที

มีงานวิจัยชี้ว่าการเรียนรู้แบบแบ่งช่วง ช่วยให้สมองบันทึกข้อมูลลงในความจำระยะยาวได้ดีกว่าการเรียนรู้แบบรวดเดียวจบ การฝึกซ้อมสั้น ๆ 10 นาที 6 วันต่อสัปดาห์เปรียบเสมือนการเว้นระยะการเรียนรู้ให้ห่างกัน ส่งผลให้สมองมีโอกาสทบทวน สร้างเส้นใยประสาทที่คงทน ผลลัพธ์คือคุณจะจำคอร์ด เล่นเมโลดี้ และไล่ระดับเสียงได้อย่างมั่นคง แม่นยำ 

นอกจากนี้ การฝึกซ้อมดนตรีวันละ 10 นาที ยังช่วยให้ผู้ฝึกจดจ่อกับการฝึกซ้อมได้ดีกว่าการฝึกซ้อมเป็นเวลานานๆ การฝึกซ้อมนานๆ จะทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าและเบื่อหน่ายได้ง่าย ส่งผลให้การฝึกซ้อมมีประสิทธิภาพลดลง การฝึกซ้อมวันละ 10 นาที จะช่วยให้มีสมาธิจดจ่อกับการฝึกซ้อมได้มากขึ้น และสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว 

คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ

ในการฝึกซ้อมดนตรีนั้น ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือคุณภาพของการซ้อม มากกว่าระยะเวลาในการซ้อม การซ้อมอย่างมีประสิทธิภาพควรมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขข้อผิดพลาด ฝึกฝนเทคนิคเฉพาะ และเรียนรู้เนื้อหาใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง การซ้อมอย่างไร้จุดหมายเพียงเพื่อเพิ่มระยะเวลาในการซ้อมไม่ได้ช่วยให้ผู้เล่นพัฒนาฝีมือได้จริง

ตัวอย่างเช่น หากต้องการฝึกเล่นคอร์ดเพลงหนึ่ง แทนที่จะซ้อมเล่นคอร์ดนั้นซ้ำ ๆ โดยไม่สนใจความถูกต้อง เราสามารถแบ่งเวลาส่วนหนึ่งในการซ้อมให้ถูกต้องตามเทคนิค เช่น ตำแหน่งนิ้วมือ องศาการกดนิ้ว น้ำหนักการกดนิ้ว ฯลฯ จากนั้นจึงค่อยเพิ่มความเร็วในการเล่นทีละน้อย เมื่อคอร์ดนั้นเล่นได้ถูกต้องและแม่นยำแล้ว จึงค่อยย้ายไปฝึกคอร์ดเพลงอื่นต่อไป

บทสรุป

ในการฝึกซ้อมดนตรีนั้น ผู้เล่นควรจะมีเป้าหมายในการฝึกซ้อมที่ชัดเจนว่าในการฝึกซ้อมครั้งนี้จะแก้ไขอะไร หรือเรียนรู้ทักษะอะไร กับดักการซ้อมที่ทุกคนมักจะติดกับคือการที่อยากฝึกในท่อนที่เล่นได้อยู่แล้ว (เล่นแล้วฟังเพราะ) แต่ไม่อยากฝึกในท่อนยากๆ (เล่นแล้วไม่เป็นเพลง) ซึ่งในความจริงแล้ว สิ่งที่ผู้ฝึกควรจะโฟกัสก็คือการฝึกซ้อมในท่อนที่ยากและยังเล่นไม่ได้ต่างหาก 

อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ฝึกควรรู้ไว้คือความสม่ำเสมอของการฝึกซ้อมสำคัญกว่าระยะเวลาในการฝึกซ้อม เพราะกว่าที่เราจะเล่นโซโล่กีตาร์แบบเร็วๆได้นั้น จำเป็นจะต้องใช้เวลาให้ทั้งสมองและกล้ามเนื้อนิ้วมือค่อยๆพัฒนาจนสามารถเล่นได้ในที่สุด

ท้ายสุดผมที่เป็นผู้เขียนจึงอยากจะฝากไว้สั้นๆเกี่ยวกับการฝึกซ้อมคือ ให้ “ซ้อมแบบมีเป้าหมาย” และ “สม่ำเสมอ” เพียงแค่นี้ทุกคนก็จะสามารถพัฒนาทักษะการเล่นดนตรีได้อย่างรวดเร็วแล้วครับ